วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ในนามของความห่วงใย


เนื้อเพลง ในนามของความห่วงใย

เสถียร ทำมือ - ในนามของความห่วงใย
คำร้อง / ทำนอง ชนะ เสวิกุล
เรียบเรียง ศิลาแลง อาจสาลี
06. ในนามของความห่...


เพราะว่าคราบน้ำตาของเธอบอกฉัน
คืนและวันของเธอทุกข์ทนเท่าไร
รับรู้ความเจ็บช้ำผ่านคำที่เธอระบาย
เขาไม่แคร์แม้มอบทุกอย่างให้เขา

ในสายตาของคนนอกวงอย่างฉัน
เพียงเสียดายใจเธอที่มันสูญเปล่า
ทำได้เพียงปลอบใจจับมือเธอไว้เบาๆ
ให้ความปวดร้าวของเธอระบายถึงกัน

อยากจะถามในนามของความห่วงใย
เหนื่อยบ้างไหมที่ทุ่มทำไปอย่างนั้น
ฉันพอจะทำอะไรให้เธอหายทรมาน
ก็อยากจะทำให้เธอสบายใจ

แม้วันนี้หัวใจของเธออ่อนล้า
เอาน้ำตาเธอมาซับที่หัวไหล่
แบ่งความเจ็บกับฉันอย่าคิดว่าเป็นคนไกล
รู้ใช่ไหมฉันยินดีทำเพื่อเธอ

อยากจะถามในนามของความห่วงใย
เหนื่อยบ้างไหมที่ทุ่มทำไปอย่างนั้น
ฉันพอจะทำอะไรให้เธอหายทรมาน
ก็อยากจะทำให้เธอสบายใจ

แม้วันนี้หัวใจของเธออ่อนล้า
เอาน้ำตาเธอมาซับที่หัวไหล่
แบ่งความเจ็บกับฉันอย่าคิดว่าเป็นคนไกล
รู้ใช่ไหมฉันยินดีทำเพื่อเธอ

แบ่งความเจ็บกับฉันอย่าคิดว่าเป็นคนไกล
รู่ใช่ไหมฉันยินดีทำเพื่อเธอ

วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การใช้แหนแดงในนาข้าว



แหนแดง ( Azolla ) เป็นเฟิร์นน้ำเล็กๆ ชนิดหนึ่งเจริญเติบโตลอยอยู่ใต้ผิวน้ำในเขตร้อนและเขตอบอุ่น โดยจะดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันกับสาหร่ายสีเขียวแก้มน้ำเงินที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้แหนแดงถูกใช้เป็นปุ๋ยในนาข้าว และใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น สุกร เป็ด และห่าน เนื่องจากแหนแดงมีโปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุต่างๆ เป็นองค์ประกอบอยู่มาก และมีกรดอะมิโนจำเป็น ( essential amino acid ) ในปริมาณที่สูงพอเพียงต่อการเจริญเติบโตของปลา จึงเหมาะที่จะเลี้ยงปลาในนาข้าวที่มีแหนแดงอยู่ด้วย

ประโยชน์ของแหนแดง :
แหนแดงมีคุณสมบัติเป็นทั้งปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพเนื่องจากในใบของแหนแดงมีสาหร่ายสีเขียวแก้มน้ำเงิน ( blue green algae ) ชื่อ Anabaena azollae อาศัยอยู่โดยดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันกับแหนแดงแบบพึ่งพาอาศัยกัน สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ความสัมพันธ์นี้ ทำให้แหนแดงกลายเป็นปุ๋ยพืชสดที่สำคัญ และมีศักยภาพสูงที่สามารถนำมาใช้ในระบบเกษตรพอเพียง เพื่อร่วมกับการปลูกข้าวทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน นอกจากนี้ยังสามารถลดการเจริญเติบโตของวัชพืชในนาข้าวเป็นอย่างดี

การขยายพันธุ์ทำได้ 2 วิธี คือ
1. การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการแตกหน่อ เมื่อต้นมีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว
2. การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยการสร้างสปอร์สืบพันธุ์เพศผู้ และเพศเมีย

สายพันธุ์ของแหนแดง : ที่ใช้ในนาข้าว
1. Azolla filiculoides
2. Azolla pinnata
3. Azolla critata
4. Azolla rubra
5. Azolla nilotica

วิธีการเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์
1. เลี้ยงในบ่อดินโคลน กระถาง และซีเมนต์ (คล้ายกับการเลี้ยงบัว)
2. เลี้ยงในบ่อธรรมชาติ โดยเลี้ยงในกระชัง
3. เลี้ยงในแปลงโดยตรง

การใช้แหนแดงเป็นอาหารสัตว์
การเลี้ยงแหนแดงไม่ยุ่งยากมากนักถ้าทำให้ถูกวิธี โดยเริ่มแรกจะทำการเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ก่อนในถังซีเมนต์ หรือกระถางปลูกบัว ทำการใส่ดินประมาณ1/2 ของกระถาง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกประมาณ 500 กรัมต่อดิน 10 กิโลกรัม แล้วเติมน้ำให้ทั่วผิวดินประมาณ 10 เซนติเมตร วางไว้ที่ร่มรับแสงประมาณ 50% อย่าให้อยู่กลางแดด เมื่อแหนแดงเจริญเติบโตเต็มผิวของกระถาง สามารถนำไปขยายต่อในบ่อดินที่มีระดับน้ำ 10 – 20 เซนติเมตร เมื่อต้องการใช้ปุ๋ยในนาข้าว จึงนำไปขยายต่อในนาข้าวที่เตรียมก่อนปักดำข้าว ปล่อยแหนแดงประมาณ 10% ของพื้นที่ แหนแดงจะเจริญเต็มพื้นที่ภายใน 15 – 30 วัน หลังจากทำการคลาดกลบแล้วทำการปักดำข้าวได้ทันที แหนแดงบางส่วนจะลอยอยู่บนผิวน้ำ หลังจากปักดำข้าวควรจะปล่อยให้เจริญเติบโตต่อไป เพราะแหนแดงที่เจริญเติบโตในนาข้าวสามารถเป็นอาหารปลาได้ดีมากเนื่องจากมีโปรตีนสูง จึงสามารถนำปลากินพืช เช่น ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียน ปล่อยลงไปได้ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม จากปลาที่ปล่อยไป และมูลปลาในนาข้าวก็เป็นปุ๋ยให้แก่ข้าวเช่นกัน จึงทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตข้าวสูงขึ้น และให้ปลามากกว่าที่เลี้ยงโดยไม่มีแหนแดง

การใช้แหนแดงในนาข้าว :
1. เตรียมขยายพันธุ์แหนแดงในพื้นที่ 20 -25 ตารางเมตร เพื่อใช้สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1 ไร่
2. รักษาระดับน้ำในน่าข้าวให้ลึก 5 – 10 เซนติเมตร
3. ใช้แหนแดงในอัตรา 50 – 100 กิโลกรัม/ไร่ ในวันที่ใส่แหนแดงควรมีการใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ (มูลไก่) ที่ให้ธาตุฟอสฟอรัสอัตรา 3 กิโลกรัม/ไร่
4. ใส่ปุ๋ยมูลสัตว์อีกครั้งเมื่อแหนแดงมีอายุ 7 – 10 วัน

แหนแดงต้องการธาตุอาหารหลักเหมือนพืชสีเขียวชนิดอื่นๆ ยกเว้นไนโตรเจน รวมทั้งต้องการธาตุอาหารรองในการเจริญเติบโตด้วยในดินนาทั่วไปฟอสฟอรัสมีความจำเป็นต่อแหนแดงมาก ถ้าปริมาณฟอสฟอรัสในดินต่ำเกินไป จะส่งผลให้การเจริญเติบโต และปริมาณการตรึงไนโตรเจนลดลง

ข้อสังเกต :
1. น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงแหนแดง ระดับน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงไม่ควรสูงเกินไป ระดับที่เหมาะสมคือ 10- 30 เซนติเมตร และแหนแดงจะตายเมื่อในนาขาดน้ำ
2. แหนแดงจะเจริญเติบโตได้ดีน้ำนิ่ง หรือมีกระแสน้ำไหลเป็นเวลาอย่างช้าๆ บริเวณคลื่นลมจัดจะทำให้แหนแดงแตกกระจายออกจากกัน ทำให้การเจริญเติบโต และการตรึงไนโตรเจนลดลงอย่างมาก
3. การตรึงไนโตรเจนของ Anabaena azollae สามารถทำได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีไนโตรเจนต่ำ
4. การตรึงไนโตรเจนของ Anabaena azollae จะมีค่าสูงสุดที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และจะหยุดกระบวนการตรึงไนโตรเจนในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 45 องศาเซลเซียส

โดย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นันทกร บุญเกิด
สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักงานวิชาเทคโนโลยีการเกษตร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
โทรศัพท์ 0-4421-7006

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

คุณค่าผัก

คุณค่าผัก
ผักมีประโยชน์สำหรับร่างกายเพราะอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ขาดวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นทำให้เกิดโรคพืชผักหลาย ๆ ชนิดจึงมีสรรพคุณป้องกันและรักษาโรคสำคัญ ๆ ผักยังมีสารอื่น ๆ ที่ให้คุณค่าแก่ร่างกาย เช่น น้ำมันระเหย แอนตี้ไบโอติธรรมชาติ ฮอร์โมน คลอโรฟีลล์ และไบโอฟลาวินอยด์ (Bioflavonoid) ฯลฯ น้ำมันระเหย (Essential oil) เป็นตัวการสำคัญทำให้พืชผักมีกลิ่น น้ำมันระเหยบางตัวเป็นแอนดี้ไบโอติกแอนดี้เซฟติก แก้ปวดฮอร์โมน ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันช่วยเสริมการทำงานของตับและกระตุ้นการผลิตฮอร์โมน รักษาผิวธาตุสี คลอโรฟีลล์และแอนโตไซอันส์ (Anthocyans) มีประโยชน์มากกับร่างกาย คลอโรฟีลล์ยังช่วยรักษาโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดแข็งตัว (atherosclerosis) โรคไซนัส ไขกระดูกอักเสบ เหงือกอักเสบ โรคซึมเศร้า และอาการแพ้ต่าง ๆ
แอนโตไซอันส์ เป็นสารสีม่วงมีมากในหัวบีทรูทโดยเฉพาะมะเร็งในเม็ดเลือด
ไบโอฟลาวินอยด์ เป็นสารสีในไส้หรือเปลือกของผักผลไม้ มีมากเป็นพิเศษที่รกหุ้มผิวกลีบส้ม
เส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์ คือ สิ่งที่เหลือหลังจากธาตุอาหารถูกร่างกายดูดซึมออกไปหมดแล้ว

แยม มันพื้นบ้าน

เป็นมันพื้นเมืองชนิดหนึ่งในแอฟริกสรรพคุณรักษาระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน แลรักษาสุขภาพของสตรีวัยหมดประจำเดือน ทำให้แยมชนิดนี้ ซึ่งมีชื่อทางพฤกษศสตร์ว่า D. rotundata นิยมปลูกกันทั่วโลก นอกเหนือจากมันฝรั่งและมันเทศ ซึ่งไทยรับมาจากต่างชาติแล้ว เราก็ยังมีมันพื้นบ้านนานาชนิด ทั้งขนาดใหญ่มากหนักเป็นสิบ ๆ กิโลกรัม ขนาดกลางและขนาดเล็ก รูปทรงต่าง ๆ กันออกไป ส่วนใหญ่เปลือกหนา ไม่เรียบ และออกสีดิน บางทีมีรากติดรุงรัง พืชหัวที่มีแป้งอันนำมากินเป็นอาหารได้ คนไทยก็เรียกเป็น “มัน” ทั้งนั้น และแยกแยะด้วยพยางค์ที่สองามคุณลักษณะสำคัญของมันนั้น ๆ เช่น มันเลือด มันมือเสือ มันตะขาบ ฯลฯ ขึ้นชื่อว่ามันก็นำมากินเป็นอาหารอิ่มและหนักท้อง คนในเอเชียและแอฟริกาได้อาศัยขุดมันพื้นบ้านเหล่านี้ได้กินเป็นอาหารมาช้านานแล้ว คนเอเชียและแอฟริกาต่างรู้จักเพาะปลูกมันพื้นเมืองพวกนี้
มันพื้นบ้านมีมาช้านานก่อนมันฝรั่ง มันเทศที่มาจากต่างประเทศ คนไทยจึงเรียกมัน ฝรั่ง มัน เทศ มันพื้นบ้านหลายชนิดของไทยอยู่ในสกุลใหญ่ Dioscorea สกุลนี้มีพันธุ์ย่อย ๆ กว่า 600 ชนิด ภาษาอังกฤษเรียกรวม ๆ ว่า yam มีรามาจากภาษาแอฟริกาตะวันตกที่เรียกมันพื้นเมืองว่า nyamba อันแปลว่ากิน หัวใต้ดินของแยมเป็นส่วนหนึ่งของลำต้นเหมือนกับมันฝรั่ง มันพื้นบ้านของไทยจัดเป็นแยม มีที่สำคัญ อาทิ
มันเสา (Dioscorea alata ) สันนิษฐานว่ามีถิ่นดั้งเดิมในเมืองไทยหรือพม่า แล้วจึงแพร่เข้าไปทั่วเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นหัวขนาดใหญ่ จึงเรียกว่าgreater yam มันชนิดนี้มีรูปทรงแตก ๆ ต่างกันออกไป ทั้งแบบยาวตรง กลมรี นิ้วมือ ตัวยู ฯลฯ เคยมีผู้ค้นพบถึง 72 แบบ จึงเรียกไปตามลักษณะหัว เช่น มันงู มันมะพร้าว มันมือหมี มันเหลือง มันเขาวัว มันหวาย ฯลฯ
มันมือเสือ ( Dioscorea alata) หัวมีขนาดเล็กกว่ามันเสา จึงเรียกว่า lesser yam ถิ่นดั้งเดิมมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวหยัก ๆ คล้ายอุ้งเท้าเสือ จึงชื่อมันมือเสือ

ชาวบ้านบางคนเรียกชื่อต่างออกไปบ้าง เช่น มันอ้อน มันมุ้ง มันจ้วก ฯลฯ แต่ชื่อมันมือเสือเป็นที่รู้จักทั่วไปมากกว่าใคร มันมือเสือเนื้อเหนียวดี นิยมนำมาซอยทำแกงเลียง หรือจะใช้แทนมันฝรั่งในแกงกะหรี่ แกงมัสมั่นก็อร่อยดี
มันขมิ้น (Dioscorea bulbifera) ชาวบ้านรียกว่ามันเหน็บ มันนก มันอีโม้ ฯลฯ มันขมิ้นมีทั้งหัวใต้ดินและบนกิ่งติดกับลำต้น หัวบนกิ่งจะกลมหรือเป็นรูปไตผิวเรียบเป็นสีน้ำตาล เนื้อในสีเหลืองอ่อน หัวบนดินนำมาปรุงธรรมดาก็กินอร่อย แต่หัวใต้ดินแข็งมาก ต้องแช่น้ำเสียก่อนจึงนำมาปรุงได้
มันเลือด (Dioscorea pentaphylla) เนื้อมีสารสีม่วงกระจายเป็นหย่อม ๆ เมื่อต้มสุกแล้วเนื้อก็ยังออกสีม่วง ดูแปลกตา เนื้อร่วนซุยเหมือนเนื้อเผือก
ประโยชน์ มันพื้นบ้านสกุลแยมมีแป้งสูงกว่ามันฝรั่งและมันเทศ ส่วนใหญ่ไม่มีรสหวาน โดยเฉพาะมันเสาจะมีทั้งคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนสูงกว่ามันอื่น ๆ อีกทั้งยังมีฟอสฟอรัส แคลเซียม และเบต้าแคโรทีน มันขมิ้นมีแคลเซียมสูงทีเดียว มีสรรพคุณช่วยล้างพิษในร่างกายและปรับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน เมาะสำหรับสตรีในวัยหมดประจำเดือน

บรอกโคลี
บรอกโคลีเป็นผักเมืองหนาวที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยราว 10 ปี โดยปลูกกันมากทางภาคเหนือ บรอกโคลีใช้แทนคะน้าได้ โดยเฉพาะส่วนลำต้นและก้านดอกที่กรอบกรุบ บรอกโคลีเป็นผักตระกูลเดียวกับกะหล่ำ(Cabbage) ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Brassica oleracea
ลักษณะลำต้นเป็นลำอวบสั้น ๆ ก้านดอกหลายก้านแตกจากลำต้นเป็นยวงดอกสีเขียว บรอกโคลีที่เราซื้อกินก็คือดอกทั้งยวงและลำก้านที่อวบอ้วนทั้งดอกและก้านนำมาปรุงอาหารได้ ส่วนก้านและลำต้นนี่แหละที่เคี้ยวได้กรอบกรุบคล้ายก้านคะน้า
ถิ่นกำเนิดของบรอกโคลีอยู่ที่ประเทศอิตาลี ชื่อก็มาจากภาษาอิตาเลียน Brocco แปลว่า ดอกที่แทงหน่อขึ้นมาจากพื้นดิน เดิมทีผักชนิดนี้เรียกว่า sprouting broccoli เพราะมันมีก้านเหมือนหน่อที่แทงสูงขึ้นมาโดยมีดอกที่ปลายก้าน

ลักษณะก้านจึงคล้ายแอสปารากัส มีทั้งพันธุ์ที่เป็นสีขาวและสีม่วงขายกันเป็นก้านเป็นมัด บรอกโคลีแบบหน่อดอกเป็นที่นิยมกินกันแต่สมันโรมัน บรอกโคลีขนานแท้ดั้งเดิมก็คือ sprouting broccoli ส่วนแบบที่เป็นยวงดอกสีเขียวจากลำที่อวบอ้วนที่เราคุ้นเคยกันนั้นเป็นบรอกโคลีการค้าที่พัฒนาพันธุ์ขึ้นในภายหลังที่เมือง คาลาเบรีย (Calabria)
ประโยชน์ ปัจจุบันครัวฝรั่งหันมานใจบรอกโคลีมากเป็นพิเศษ หลังจากค้นพบความมหัศจรรย์ด้านสรรพคุณยาของมัน สารซัลเฟอราเฟน (Sulfuraphane) ในบรอกโคลี ช่วยต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่ปอด ลำไส้ใหญ่ และที่เต้านม นอกจากนั้นยังช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพราะมีวิตามินซีสูง เป็นแอนติออกซิเดนท์ป้องกันเกล็ดเลือดแข็งตัว ทำให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น มีเบต้าแคโรทีนสูงมาก นอกจากนั้นยังมีสารป้องกันโรคไขข้อ โรคตาต้อในคนแก่ และโรคเบาหวาน ช่วบลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต และเสริมระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกาย
ผักกระเฉด
บรรดาผักที่เกิดและเติบโตในน้ำ มักมีคุณสมบัติลำต้นกรุบกรอบคล้ายกัน แต่ที่กรอบอร่อยที่สุด และเป็นที่นิยมของคนไทยมากกว่าชาติใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้แก่ผักกระเฉด กระเฉดเป็นไม้เถาล้มลุกในตระกูลถั่วหรือไมยราบ ชอบขึ้นในน้ำ โดยเฉพาะในหนองคลองบึงที่มีน้ำใสนิ่ง ลำต้นเป็นเถาเลื้อยทอดยอดไปบนผิวน้ำ มีรากและกิ่งหรือแขนงออกตามข้อ มีปลอกเป็นปุยขาวหยุ่น ๆ เรียกว่า “นม”ห่อหุ้มตามลำต้นเป็นเสมือนทุ่นให้ลำต้นลอยน้ำอยู่ได้ ใบฝอยละเอียดคล้ายใบไมยราบ เมื่อถูกสัมผัสจะยุบราบไป
เนื่องจากผักกระเฉดชอบขึ้นในน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติที่นิ่งและใส โดยเฉพาะหนองน้ำ คนไทยในหลายภาคจึงเรียกว่า ผักหนอง หรือ ผักละหนอง ภาษาราชาศัพท์เรียกว่า ผักรู้นอน ซึ่งไม่เป็นที่นิยม ผักกระเฉด มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Neptuniaoleracea Lour. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Water mimosa
ประโยชน์ ผักกระเฉด เป็นผักที่มีแร่ธาตุและวิตามินสูงอย่างน่าทึ่ง ที่สำคัญคือมีแคลเซียม ฟอส
ฟอรัส และแร่ธาตุเหล็กในปริมาณสูง นอกจากนั้นยังมีวิตามินซี และไนอะซิน (วิตามินบีชนิดหนึ่ง) ที่จำเป็นสำหรับกระบวนการเผาผลาญสารอาหารสร้างพลังงานในร่างกาย หมอยาสมุนไพรถือว่าผักกระเฉดเป็นยาเย็น มีสรรพคุณ ดับร้อนถอนพิษไข้ ถอนพิษยาเบื่อเมา นมผักกระเฉดช่วยรักษาไข้และดับพิษร้อน รากใช้รักษาโรคกามโรค ใช้ลำต้นคั้นน้ำใส่หู แก้ปวดหู

ไม้มงคลที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์นี้

ไม้มงคลที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์นี้ ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ก่อนทำการก่อสร้างนิยมทำพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยใช้ไม้มงคล ๙ ชนิด ปักกับพื้นดิน ไม้ทั้ง ๙ ชนิด มีชื่อเป็นมงคลนาม ได้แก่ ไม้ราชพฤกษ์ ไม้ขนุน ไม้ชัยพฤกษ์ ไม้ทองหลาง ไม้ไผ่สีสุก ไม้ทรงบาดาล ไม้สัก ไม้พะยูง และไม้กันเกรา


๑. ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึง ความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 8 - 15 เมตร
นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดเอเชียแถบร้อน ขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป
ออกดอก กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ทิ้งใบก่อนออกดอก

ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด วิธีการเตรียมเมล็ดก่อนเพาะ นำเมล็ดมาตัดหรือทำให้เกิด บาดแผลที่ปลายเมล็ดแล้ว แช่น้ำไว้ 12 ชั่วโมง หรือแช่กรดซัลฟูริคเข้มข้น 1.84 ประมาณ 15 นาที แล้วล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง วิธีนี้สะดวกแต่อันตราย และอีกวิธีหนึ่งคือ ต้มน้ำให้เดือดแล้วเทลงในเมล็ด ทิ้งไว้ข้ามคืน ทั้ง 2 วิธีนี้จะทำ ให้เมล็ดดูดน้ำเข้าไปและพร้อมที่จะงอก
วิธีเพาะ อาจหยอดลงในถุงดินที่เตรียมไว้หรือจะเพาะในแปลงเพาะแล้วย้ายชำกล้าในภายหลัง ควรให้เมล็ดอยู่ใต้ผิวดิน 3-5 มิลลิเมตร รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะงอกภายใน 1-2 สัปดาห์

ประโยชน์ ราก ฝนทาแก้กลาก เป็นยาระบาย รากและแก่นเป็นยาขับพยาธิ เปลือกและไม้ใช้ฟอกหนัง และใช้บดทาผื่นตามร่างกาย เนื้อไม้สีแดงแกมเหลืองทนทานใช้ทำเสา ล้อเกวียน ใบต้มกินเป็นยาระบาย ดอกแก้ไข้ ฝักเนื้อในรสหวาน เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาการแน่นหน้าอก แก้ขัดข้อ

๒. ไม้ขนุน หมายถึง หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยขึ้น ทำอะไรจะมีผู้ให้การเกื้อหนุน

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูง 15 - 30 เมตร ลำต้นและกิ่งเมื่อมีบาดแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนมไหล
นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดียเป็นพืชเศรษฐกิจเมืองร้อนที่ให้ผลมีขนาดใหญ่ที่สุดสามารถ บริโภคทั้งผลดิบและผลสุก นอกจากนี้ยังนำไปแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ มีปลูกทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ออกดอก จะออกปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม และเมษายน - พฤษภาคมขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด ติดตา และทาบกิ่ง

ประโยชน์ ผลอ่อน ใช้ปรุงอาหาร ผลสุกเยื่อหุ้มเมล็ดมีรสหวาน เมล็ดปรุงอาหาร เนื้อไม้ ใช้ทำพื้นเรือนและสิ่งก่อสร้าง ครก สากกระเดื่อง หวี โทน รำมะนา ระนาด รากและแก่น ให้สีเหลือง ถึงเหลืองอมน้ำตาล ใช้ย้อมผ้าและแพรไหม รากนำมาปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้ไข้ ใบ เผาไฟกับซังข้าวโพดให้ดำเป็นถ่าน แล้วใส่รวมกับก้นกะลามะพร้าวขูด โรยรักษาบาดแผล

๓. ไม้ชัยพฤกษ์ หมายถึง การมีโชคชัย ชัยชนะ ชนะศัตรู ชนะอุปสรรคต่างๆ

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น สูงถึง 15 เมตร ลำต้นสีน้ำตาล ทรงพุ่มใบกลมคล้ายร่ม เมื่อต้นยังอ่อนมีหนาม ใบประกอบรูปขนนกปลายคู่ เรียงสลับ มีใบย่อย 5 - 15 คู่ แผ่นใบรูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนาน ขนาดกว้าง 1.5 - 2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 - 5 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบกลม ผิวใบด้านล่างมีขนละเอียด

ดอก เริ่มบานสีชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ใกล้โรยดอกสีขาว ออกเป็นช่อตามกิ่งยาว 5 - 16 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีแดง หรือแดงปนน้ำตาล ดอกเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร ผลเป็นฝักกลมสีดำ ยาว 20 - 60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร เมื่อแก่ไม่แตกมีเมล็ดจำนวนมาก

นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดอินโดนีเซีย
ออกดอก กุมภาพันธ์ - เมษายน
ขยายพันธุ์ โดยใช้เมล็ด วิธีเพาะเช่นเดียวกับราชพฤกษ์
ประโยชน์ เนื้อในฝักเป็นยาระบายอ่อน ๆ ปลูกประดับ ดอกสวยงาม

๔. ไม้ทองหลาง หมายถึง การมีทรัพย์สินเงิน มีเงินทองใช้ไม่ขัดสน

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 5 - 10 เมตร ตามกิ่งต้นอ่อนมีหนาม เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง
นิเวศวิทยา พบทั่วไปในย่านเอเชียเขตร้อนและอบอุ่น
ออกดอก มกราคม - กุมภาพันธุ์
ขยายพันธุ์ โดยเมล็ดและปักชำ
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ

๕. ไผ่สีสุก หมายถึง มีความสุขกายสบายใจ ไร้ทุกข์โศกโรคภัย

ข้อมูลทางวิชาการ
เป็นไม้ไผ่ประเภทมีหนาม ความยาวลำต้นสูง 10 - 18 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 - 12 เซนติเมตร แข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ข้อไม่พองออกมา กิ่งมากแตกตั้งฉากกับลำต้น หนามโค้งออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 อัน อันกลางยาวกว่าเพื่อน ลำมีรูเล็กเนื้อหนา ใบมีจำนวน 5 - 6 ใบ ที่ปลายกิ่ง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มกว้าง ๆ หรือตัดตรง แผ่นใบกว้าง 0.8 - 2 เซนติเมตร ยาว 10 - 20 เซนติเมตร ใต้ใบมีสีเขียวอมเหลือง เส้นลายใบมี 5 - 9 คู่ ก้านใบสั้น ขอบใบสาก คลีบใบเล็กมีขน

นิเวศวิทยา เชื่อกันว่าเป็นไม้ดั้งเดิมในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก หรือหมู่เกาะแปซิฟิคตอนใต้ ในประเทศไทย มักจะขึ้นอยู่ตามที่ราบลุ่มริมห้วย แม่น้ำ และมักปลูกรอบ ๆ บ้านในชนบท

ขยายพันธุ์ ปักชำ ใช้ท่อนไม้ไผ่มาตัดทอนเป็นท่อน ๆ ให้ติดปล้อง 1 ปล้อง (ข้อตา) นำมาปักไว้ในวัสดุชำ เอียงประมาณ 45 องศา เรียงเป็นแถวเป็นแนวเดียวกันเพื่อสะดวกในการดูแลรักษา เติมน้ำลงในกระบอกไม้ไผ่ให้เต็ม ประมาณ 4 สัปดาห์ หน่อจะแตกออกจากตาไม้ไผ่ และรากจะงอกออกจากปุ่มใต้ตา หรือถ้าตัดทอนท่อนไม้ไผ่ให้ตัดข้อตา 2 ข้อ แล้วเจาะตรงกลางระหว่างข้อตา สำหรับเติมน้ำลงไปในปล้อง นำไปวางนอนในวัสดุชำแนวราบก็ได้เช่นกัน

ประโยชน์ สมัยก่อนมักปลูกไว้รอบบ้านเป็นรั้วกันขโมย กันลม หน่อเมื่ออยู่ใต้ดินทำอาหารได้มีรสดี เมื่อโผล่พ้นดินประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร มักเอาไปทำหน่อไม้ดอง จะให้รสเปรี้ยว สีขาว และเก็บได้นาน โดยไม่เปื่อยเหมือนหน่อไม้ชนิดอื่น เนื้อไม้หนาแข็งแรง ใช้สร้างบ้านในชนบทได้ทนทาน ทำเครื่องจักสาน เครื่องใช้ในการประมง ใช้ในการทำนั่งร้านก่อสร้าง ส่วนโคนนิยมใช้ทำไม้คานหาบหามและใช้ทำกระดาษให้เนื้อเยื่อสูง

๖. ไม้ทรงบาดาล หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้บ้านมั่นคงแข็งแรง
ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้พุ่ม สูง 3 - 5 เมตร ใบ ประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 4 - 6 คู่ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ขนาดกว้าง 1 - 2 เซนติเมตร ยาว 2.5 - 4 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ดอก สีเหลืองออกตามซอกใบ และปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 - 3 เซนติเมตร ผล เป็นฝักแบน กว้าง 1 - 1.5 เซนติเมตร ยาว 7 - 20 เซนติเมตร

นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดเอเชียเขตร้อนและจาไมก้า ออกดอก ตลอดปี ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด วิธีเตรียมเมล็ด ก่อนเพาะ นำเมล็ดมาแช่น้ำร้อน 80 - 90 องศาเซลเซียส แล้วทิ้งไว้ให้เย็น 16 ชั่วโมง

วิธีเพาะเมล็ด เช่นเดียวกับราชพฤกษ์
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ

๗. ไม้สัก หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ อำนาจบารมี คนเคารพนับถือและยำเกรง

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ขนาดใหญ่ผลัดใบในฤดูร้อน ลำต้นเปลาตรงเปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ สีเทา โคนเป็นพูพอนต่ำ ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ เปลือกสีเทา เรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นตามความยาวลำต้น

นิเวศวิทยา ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ บางส่วนในภาคกลางและภาคตะวันตก มีอยู่บ้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ออกดอก ออกดอกและเป็นผลเดือน มิถุนายน - ตุลาคม
ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด ปักชำ
ประโยชน์ เนื้อไม้มีลายสวยงามแข็งแรงทนทาน เลื่อย ผ่า ไสกบตบแต่ง และชักเงาได้ง่าย ใช้ทำเครื่องเรือนและในการก่อสร้างบ้านเรือน ปลวก มอด ไม่ชอบทำลายเพระมีสารพวกเตคโตคริโนน

๘. ไม้พะยูง หมายถึง การพยุงฐานะให้ดีขึ้น

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 15 - 25 เมตร เปลือกสีเทาเรียบเรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่
นิเวศวิทยา ขึ้นในป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณชื้น ทั่ว ๆ ไป ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ออกดอก พฤษภาคม - กรกฎาคม ฝักแก่ กรกฎาคม - กันยายน

ขยายพันธุ์ โดยนำเมล็ดแช่ในน้ำเย็น 24 ชั่วโมง แล้วเพาะในกะบะเพาะ โดยหว่านให้กระจายทั้งกะบะเพาะแล้วโรยทรายกลบบาง ๆ รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะงอกภายใน 7 วัน เมื่อกล้าไม้อายุ 10-14 วัน ความสูงประมาณ 1 นิ้ว มีใบเลี้ยง 1 คู่ สามารถย้ายชำในถุงหรือภาชนะที่เตรียมไว้ได้

ประโยชน์ เนื้อไม้สีแดงอมม่วง ถึงแดงเลือดหมูแก เนื้อละเอียด แข็งแรงทนทาน ขัดและชักเงาได้ดี ใช้ทำเครื่องเรือน เกวียน เครื่องกลึงแกะสลัก ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด

๙. ไม้กันเกรา หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ตำเสา ซึ่งอาจหมายถึงทำให้เสาเรือนมั่นคง

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 - 25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ
นิเวศวิทยา ขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้น และตามที่ต่ำ ที่ชื้นแฉะใกล้น้ำ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ออกดอก เมษายน - มิถุนายน เป็นผล มิถุนายน - กรกฎาคม
ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด
ประโยชน์ เนื้อไม้ สีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทาน ใช้ในการก่อสร้าง นิยมใช้ทำเสาเรือน แก่นมีรสฝาดใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แน่นหน้าอก เปลือกใช้บำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปลูกเป็นไม้ประดับ
ต้นกันเกรา..นี้ ทางภาคใต้เรียกว่า "ตำเสา" หรือ "ทำเสา" แต่ทางภาคอีสานเรียกว่า "มันปลา" เป็นไม้ต้นสูงใหญ่แข็งแรง ใบดกทึบหนาสีเขียวแก่เป็นมัน ชอบขึ้นในที่แล้งหรือในที่ๆมีฝนชุก เวลามีดอกมักออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีสีเหลืองนวลอมแสดเล็กน้อย ช่อคล้ายๆ ช่อเข็มหรือดอกอโศก มีกลิ่นหอมระรื่นทั้งวัน ชวนดมมาก ไม้พันธุ์นี้โตช้า ใช้ปลูกเพาะเอาจากเมล็ดมากว่าอย่างอื่นๆ
กันเกรา เป็นพันธุ์ไม้ที่ทรงต้นสวย ฤดูออกดอกทางภาคใต้อยู่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม แต่ทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในช่วงเดือน สิงหาคม-ตุลาคม ผลกลมเล็ก ขนาดประมาณ 6 มม. เมื่อสุกสีเหลืองอมส้ม หรือแดงอมส้ม เนื้อไม้ละเอียดสีเหลืองอ่อน แข็งแรงทนทาน ใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ได้ดี แก่นและเปลือกใช้เป็นสมุนไพร จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีค่าควรปลูกเป็นอย่างยิ่ง และพบขึ้นตามธรรมชาติเกือบทุกภาคของประเทศ เป็นไม้ท้องถิ่นแถบเอเชียตอนใต้....
กันเกรา นั้นเป็นไม้ที่จะพบมากแถว จันทบุรี ชุมพร และตราด คนโบราณแถบนี้จะเอาแก่นต้นกันเกรามาทำไม้ค้างพริกไทย หมายถึงเอาไม้แก่นมาตั้งเป็นเสาให้ต้นพริกไทยเลื้อยเกาะ ที่ต้องเอาเป็นไม้ตะเกราหรือกันเกราก็เพราะแก่นไม้ชนิดนี้แข็งมากอยู่ได้หลายๆสิบปี โดยไม่ผุ แม้แต่บ้านโบราณก็ยังใช้แก่นไม้นี้ปูพื้นบริเวณที่ชำระล้าง เพราะความ ทนทานนั่นเอง
กันเกรา ยังถูกเรียกขานให้เป็น "ต้นภราดรภาพ" ซึ่งเป็นสื่อศีลธรรม หมายถึงความเท่าเทียมกันในสิทธิมนุษยชนของผู้คน อันมีที่ทาจากการสร้าง"ศูนย์จริยธรรมและเศรษฐกิจพอเพียง" (ดุชงญอ) ที่อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา ดังนี้ ได้มีความร่วมมือกันระหว่างชาวบ้านและเครือข่ายทูตสันติภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งผู้นำซึ่งเป็นตัวแทนศาสนาทั้งพุทธ มุสลิม และคริสต์ โดยมุ่งไปสู่การสร้างความสามัคคีในหมู่คนไทยเราทุกภาคส่วนและทุกศาสนา และชาวบ้านมีความหวังที่จะสร้างสรรค์ให้ศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาการ ศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม รวมทั้งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับลูกหลานและผู้คนในชุมชน ในการครั้งนั้น นอกจากจะได้มีพิธีลงเสาหลักปักเสาเอก ตัวแทนของทั้ง 3 ศาสนา ยังได้มีการปลูกต้นไม้ร่วมกัน 3 ต้น คือ
1. ต้นภราดรภาพ คือ ศีลธรรม (ต้นกันเกรา) หมายถึง ความเท่าเทียมกันในสิทธิมนุษยชนทุกชนเผ่า มีความผูกพันฉันญาติมิตรเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ
2. ต้นมิตรภาพ คือ คุณธรรม (ต้นตะเคียนชันตาแมว) หมายถึง ความรักความอบอุ่นและความห่วงใยโดยการปลูกต้นตะเคียนชันตาแมว ซึ่งมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง ทางภาคใต้นิยมมาสร้างบ้าน รั้ว โรงเรียน ศาลาวัด มัสยิด และใช้ทำเฟอร์นิเจอร์
3. ต้นสันติภาพ คือ จริยธรรม (ต้นราชพฤกษ์) หมายถึง ความร่มเย็น ความผาสุกภายใต้พระบรมโพธิสมภาร โดยการปลูกต้นราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ศิริมงคลของปวงชนชาวไทย และสามารถเจริญเติบโตได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นต้นไม้สักการะที่รวมใจไทยทั้งชาติเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งนำมาทำเป็นเสาหลักเมือง สัญลักษณ์ของความเป็นไทย

สารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ปรับปรุงดิน - สารที่อนุญาตให้ใช้ปรับปรุงดิน

สารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ปรับปรุงดิน
1. กากตะกอนโสโครก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผัก)
2. สารเร่งการเจริญเติบโต
3. จุลินทรีย์ และผลิตผลจากจุลินทรีย์ที่ได้มากจากการตัดต่อสารพันธุกรรม
4. สารพิษตามธรรมชาติ เช่น โลหะหนักต่าง
5. ปุ๋ยเทศบาล หรือปุ๋ยหมักจากขยะในเมือง
สารที่อนุญาตให้ใช้ปรับปรุงดิน
1.ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ผลิตจากวัสดุในไร่นา เช่น
-ปุ๋ยหมัก จากเศษซากพืช ฟางข้าว ขี้เลื่อย เปลือกไม้ เศษไม้ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่น ๆ เป็นต้น
-ปุ๋ยคอก จากสัตว์ที่เลี้ยงตามธรรมชาติ ไม่ใช้อาหารจากจีเอ็มโอ(สารตัดต่อพันธุกรรม) ไม่ใช้สารเร่งการเจริญเติบโตและไม่มีการทรมานสัตว์
-ปุ๋ยพืชสด เศษซากพืชและวัสดุเหลือใช้ในไร่นารูปสารอินทรีย์
2.ดินพรุ ที่ไม่เติมสารสังเคราะห์
3.ปุ๋ยชีวภาพ หรือจุลินทรีย์ที่พบทั่วไปตามธรรมชาติ
4.ขุยอินทรีย์ สิ่งที่ขับถ่ายจากไส้เดือนดินและแมลง
5.ดินอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
6.ดินชั้นบน (หน้าดิน) ที่ปลอดจากการใช้สารเคมีมาแล้วอย่างน้อย 1ปี
7.ผลิตภัณฑ์จากสาหร่าย และสาหร่ายทะเล ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
8.ปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ได้จากพืชและสัตว์
9.อุจจาระและปัสสาวะ ที่ได้รับการหมักแล้ว(ใช้ได้กับพืชที่ไม่เป็นอาหารของมนุษย์)
10.ของเหลงจากระบบน้ำโสโครก จากโรงงานทีผ่านกระบวนการหมักโดยไม่เติมสารสังเคราะห์ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
11.ของเหลือกใช้จากกระบวนการในโรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม เช่นโรงงานน้ำตาล โรงงานมันสำปะหลัง โรงงานน้ำปลา โดยกระบวนการเหล่านั้นต้องไม่เติมสารสังเคราะห์ และต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
12.สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชหรือสัตว์ ซึ่งได้จากธรรมชาติ

สารอนินทรีย์

หินและแร่ธาตุ ได้แก่
- หินบด
- หินฟอสเฟต
- หินปูนบด(ไม่เผาไฟ)
- ยิบซั่ม
- แคลเซียม
- ซิลิเกต
- แมกนีเซียมซัลเฟต
- แร่ดินเหนียว
- แร่เฟลด์สปาร์
- แร่เพอร์ไลท์
- ซีโอไลท์
- เบนโทไนท์
- หินโพแทส
- แคลเซียมจากสาหร่ายทะเล และ สาหร่ายทะเล
- เปลือกหอย
- เถ้าถ่าน
- เปลือกไข่บด
- กระดูกป่น และ เลือดแห้ง
- เกลือกสินเธาว์
-โบแร็กซ์
- กำมะถัน
- ธาตุอาหารเสริม (โบรอน ทองแดง เหล็ก แมงกานีส โมลิบดินัม และสังกะสี)

สารเร่งพด.9


สารเร่งพด.9
ดินเปรี้ยวเป็นปัญหาดินหลักที่เกิดจากสภาพธรรมชาติซึ่งมีผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ลุ่มที่มีการเพาะปลูกข้าว ประมาณ 5.3 ล้านไร่ ดินเปรี้ยวหรือดินกรดกำมะถันเป็นดินที่มีสารไพไรท์มากเมื่อสารไพไรท์นี้ถูกทำให้แห้งจะแปรสภาพเป็นสารประกอบ จาโรไซท์ที่มีลักษณะเป็นจุดประสีเหลืองฟางข้าว หรือมีกรดกำมะถันเกิดขึ้นภายในความลึก 150 เซนติเมตร ทำให้ปฏิกิริยาดินเป็นกรดรุนแรงมากถึงรุนแรงมากที่สุด มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินต่ำกว่า 4.0 ระดับความรุนแรงของดินเปรี้ยวขึ้นอยู่กับระดับความลึกของชั้นดินกรดกำมะถัน ปัญหาของดินเปรี้ยวได้แก่ ดินเป็นกรดรุนแรง ทำให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหาร โดยจะมีอะลูมินั่ม เหล็ก และแมงกานีสละลายออกมามากจนเป็นพิษต่อพืชที่ปลูก ลดความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัส น้ำมีรสฝาดไม่เหมาะสมต่อการเกษตรและใช้อุปโภค บริโภค ในบ่อเลี้ยงปลาอาจเกิดความ เป็นพิษของก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์และคาร์บอนไดออกไซด์ดังนั้นกรมพัฒนาที่ดินจึงได้นำกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการเพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในสภาพดินดังกล่าว ร่วมกับการไถกลบตอซังและการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน
สารเร่ง พด.9 สำหรับผลิตเชื้อจุลินทรีย์เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยวน้อยซึ่งเป็นดินกรดกำมะถันที่มีความรุนแรงของกรดน้อย (pH 5)

วาระแห่งชาติ เกษตรอินทรีย์


เจตนารมณ์ภาครัฐ
ในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ ทุกภาคส่วนร่วมกันปฏิบัติอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่พึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี มาเป็นการพึ่งพาตนเองในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพเพื่อใช้เองในประเทศ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงโดยคำนึงถึงทุกมิติ
- มิติของอาหารปลอดภัย
- มิติความปลอดภัยของเกษตรกร
- มิติของการประหยัดค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
- มิติแห่งการฟื้นฟูนิเวศของดินและทรัพยากรธรรมชาติ
- มิติแห่งการสำนึกต่อผู้บริโภคของตัวเกษตรกรทุก ๆ คน
ความเป็นมา
• คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 มีนโยบายเกษตรกรรมเกี่ยวกับรัฐบาลจะส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรกรรมทางเลือกและเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรชุมชนเกษตรกร และจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
• มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2547 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการรณรงค์ ส่งเสริม และแนะนำให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงบำรุงดินด้านอินทรียวัตถุเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมีและสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจังเพื่อการพัฒนาคุณภาพดิน ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี
• มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบเรื่องการผลิตและรณรงค์การใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพให้แพร่หลาย โดยมีกระทรวงต่างๆ เข้าร่วม คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ถือว่าเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องทำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
• มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 เห็นชอบข้อเสนอการจัดทำแผนงบประมาณในเชิงบูรณาการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 และให้กระทรวงและหน่วยงานใช้เป็นแนวทางประกอบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549
• มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2548 เห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ และอนุมัติในหลักการให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับการบริหารราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน
• คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 ในการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร รัฐบาลจะสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร โดยส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพควบคู่ไปกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระบวนการบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชนในการเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และนำผลผลิตเกษตรไปผลิตเป็นพลังงานทดแทน เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง การผลิตสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพทางการตลาดสูงและมีโอกาสเพิ่มมูลค่า เช่น ยางพารา ปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เป็นต้น และส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรตามระบบมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร โดยพัฒนาระบบการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรทั้งการนำเข้าและส่งออกให้เป็นไปตามมาตรฐานโลก รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวทฤษฎีใหม่ และเกษตรอินทรีย์ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร
ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม