วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การใช้แหนแดงในนาข้าว



แหนแดง ( Azolla ) เป็นเฟิร์นน้ำเล็กๆ ชนิดหนึ่งเจริญเติบโตลอยอยู่ใต้ผิวน้ำในเขตร้อนและเขตอบอุ่น โดยจะดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันกับสาหร่ายสีเขียวแก้มน้ำเงินที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้แหนแดงถูกใช้เป็นปุ๋ยในนาข้าว และใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น สุกร เป็ด และห่าน เนื่องจากแหนแดงมีโปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุต่างๆ เป็นองค์ประกอบอยู่มาก และมีกรดอะมิโนจำเป็น ( essential amino acid ) ในปริมาณที่สูงพอเพียงต่อการเจริญเติบโตของปลา จึงเหมาะที่จะเลี้ยงปลาในนาข้าวที่มีแหนแดงอยู่ด้วย

ประโยชน์ของแหนแดง :
แหนแดงมีคุณสมบัติเป็นทั้งปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพเนื่องจากในใบของแหนแดงมีสาหร่ายสีเขียวแก้มน้ำเงิน ( blue green algae ) ชื่อ Anabaena azollae อาศัยอยู่โดยดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันกับแหนแดงแบบพึ่งพาอาศัยกัน สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ความสัมพันธ์นี้ ทำให้แหนแดงกลายเป็นปุ๋ยพืชสดที่สำคัญ และมีศักยภาพสูงที่สามารถนำมาใช้ในระบบเกษตรพอเพียง เพื่อร่วมกับการปลูกข้าวทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน นอกจากนี้ยังสามารถลดการเจริญเติบโตของวัชพืชในนาข้าวเป็นอย่างดี

การขยายพันธุ์ทำได้ 2 วิธี คือ
1. การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการแตกหน่อ เมื่อต้นมีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว
2. การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยการสร้างสปอร์สืบพันธุ์เพศผู้ และเพศเมีย

สายพันธุ์ของแหนแดง : ที่ใช้ในนาข้าว
1. Azolla filiculoides
2. Azolla pinnata
3. Azolla critata
4. Azolla rubra
5. Azolla nilotica

วิธีการเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์
1. เลี้ยงในบ่อดินโคลน กระถาง และซีเมนต์ (คล้ายกับการเลี้ยงบัว)
2. เลี้ยงในบ่อธรรมชาติ โดยเลี้ยงในกระชัง
3. เลี้ยงในแปลงโดยตรง

การใช้แหนแดงเป็นอาหารสัตว์
การเลี้ยงแหนแดงไม่ยุ่งยากมากนักถ้าทำให้ถูกวิธี โดยเริ่มแรกจะทำการเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ก่อนในถังซีเมนต์ หรือกระถางปลูกบัว ทำการใส่ดินประมาณ1/2 ของกระถาง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกประมาณ 500 กรัมต่อดิน 10 กิโลกรัม แล้วเติมน้ำให้ทั่วผิวดินประมาณ 10 เซนติเมตร วางไว้ที่ร่มรับแสงประมาณ 50% อย่าให้อยู่กลางแดด เมื่อแหนแดงเจริญเติบโตเต็มผิวของกระถาง สามารถนำไปขยายต่อในบ่อดินที่มีระดับน้ำ 10 – 20 เซนติเมตร เมื่อต้องการใช้ปุ๋ยในนาข้าว จึงนำไปขยายต่อในนาข้าวที่เตรียมก่อนปักดำข้าว ปล่อยแหนแดงประมาณ 10% ของพื้นที่ แหนแดงจะเจริญเต็มพื้นที่ภายใน 15 – 30 วัน หลังจากทำการคลาดกลบแล้วทำการปักดำข้าวได้ทันที แหนแดงบางส่วนจะลอยอยู่บนผิวน้ำ หลังจากปักดำข้าวควรจะปล่อยให้เจริญเติบโตต่อไป เพราะแหนแดงที่เจริญเติบโตในนาข้าวสามารถเป็นอาหารปลาได้ดีมากเนื่องจากมีโปรตีนสูง จึงสามารถนำปลากินพืช เช่น ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียน ปล่อยลงไปได้ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม จากปลาที่ปล่อยไป และมูลปลาในนาข้าวก็เป็นปุ๋ยให้แก่ข้าวเช่นกัน จึงทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตข้าวสูงขึ้น และให้ปลามากกว่าที่เลี้ยงโดยไม่มีแหนแดง

การใช้แหนแดงในนาข้าว :
1. เตรียมขยายพันธุ์แหนแดงในพื้นที่ 20 -25 ตารางเมตร เพื่อใช้สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1 ไร่
2. รักษาระดับน้ำในน่าข้าวให้ลึก 5 – 10 เซนติเมตร
3. ใช้แหนแดงในอัตรา 50 – 100 กิโลกรัม/ไร่ ในวันที่ใส่แหนแดงควรมีการใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ (มูลไก่) ที่ให้ธาตุฟอสฟอรัสอัตรา 3 กิโลกรัม/ไร่
4. ใส่ปุ๋ยมูลสัตว์อีกครั้งเมื่อแหนแดงมีอายุ 7 – 10 วัน

แหนแดงต้องการธาตุอาหารหลักเหมือนพืชสีเขียวชนิดอื่นๆ ยกเว้นไนโตรเจน รวมทั้งต้องการธาตุอาหารรองในการเจริญเติบโตด้วยในดินนาทั่วไปฟอสฟอรัสมีความจำเป็นต่อแหนแดงมาก ถ้าปริมาณฟอสฟอรัสในดินต่ำเกินไป จะส่งผลให้การเจริญเติบโต และปริมาณการตรึงไนโตรเจนลดลง

ข้อสังเกต :
1. น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงแหนแดง ระดับน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงไม่ควรสูงเกินไป ระดับที่เหมาะสมคือ 10- 30 เซนติเมตร และแหนแดงจะตายเมื่อในนาขาดน้ำ
2. แหนแดงจะเจริญเติบโตได้ดีน้ำนิ่ง หรือมีกระแสน้ำไหลเป็นเวลาอย่างช้าๆ บริเวณคลื่นลมจัดจะทำให้แหนแดงแตกกระจายออกจากกัน ทำให้การเจริญเติบโต และการตรึงไนโตรเจนลดลงอย่างมาก
3. การตรึงไนโตรเจนของ Anabaena azollae สามารถทำได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีไนโตรเจนต่ำ
4. การตรึงไนโตรเจนของ Anabaena azollae จะมีค่าสูงสุดที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และจะหยุดกระบวนการตรึงไนโตรเจนในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 45 องศาเซลเซียส

โดย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นันทกร บุญเกิด
สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักงานวิชาเทคโนโลยีการเกษตร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
โทรศัพท์ 0-4421-7006

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น