วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กำลังเสือโคร่ง




ไม้ต้นนี้มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเท่านั้น โดยจะมีขึ้นทั่วไปตามริมห้วยในป่าดิบที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1000 เมตร ขึ้นไป ส่วนในต่างประเทศพบมีมากที่สุดที่ลาว ในอดีตต้นไม้ต้นนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนพื้นเมือง และชาวเขาที่เข้าไปเก็บของป่ามาขาย จะใช้มีดคมๆ ฟันหรือถากเอาเปลือกของต้น "กำลังเสือโคร่ง" ซึ่งมีกลิ่นหอมคล้าย "การะบูน" ไปขายให้ร้านยาไทยในเมืองหรือนำไปต้มน้ำรับประทานเองเป็นยาสมุนไพร บำรุงธาตุ บำรงกำลัง ทำให้เจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ บำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง และแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายได้เด็ดขาดนัก จึงถูกตั้งชื่อว่า "กำลังเสือโคร่ง"

ปัจจุบันต้น "กำลังเสือโคร่ง" จัดเป็นไม้หายากอีกชนิดหนึ่งที่คนรุ่นใหม่น้อยคนนักจะรู้จัก หรือเคยพบเห็น "กำลังเสือโคร่ง" มีชื่อเรียกอีกคือ "กำลังพญาเสือโคร่ง" (เชียงใหม่)

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ต้นสูงได้เต็มที่ตั้งแต่ 10-25 เมตร ลำต้นเดี่ยว ตั้งตรง เนื้อไม้แข็ง กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มแน่น ทรงกลม เปลือกหนา สีน้ำตาลเทาหรือเกือบดำ มีต่อมระบายอากาศเป็นจุดเล็กๆยาวๆ กลมบ้างรีบ้างปะปนกันอยู่ เปลือกเมื่อใช้มีดถากออกมาจะมีกลิ่นหอมระเหยคล้าย "การะบูน" เวลาเปลือกแก่จะลอกออกเป็นชั้นๆคล้ายกระดาษ ที่ยอดอ่อนก้านใบและช่อดอกมีขนสีเหลืองหรือน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นรูปไข่แกมรูปหอก ท้องใบมีตุ่ม โคนป้าน ขอบหยักแบบฟันเลื่อย 2 ชั้นหรือ 3 ชั้น

ดอก จะโดดเด่นเป็นพิเศษ สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบแยกเพศคนละช่อ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมากและดูคล้าย "หางกระรอก" ออกตามง่ามใบ 3-5 ช่อ เป็นพวงยาว มีกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม 5 กลีบ กลีบดอก5 กลีบรูปไข่กลับ มีเกสรตัวผู้ 5 อัน เกสรตัวเมีย 2 อัน เวลาดอกบานพร้อมกันจะสวยงาม

ผล เป็นรูปกลมแบนมีเนื้อและมีปีกบางโปร่งแสง 2 ข้าง ภายในมีเมล็ด ดอกจะออกเกือบตลอดทั้งปี

ขยายพันธุ์ ด้วยวิธีเพาะเมล็ดกับตอนกิ่ง

"กำลังเสือโคร่ง" นอกจากเปลือกจะมีประโยชน์แล้ว แก่นยังใช้ต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณเช่นเดียวกับเปลือก จึงเป็นไม้น่าปลูกประดับอีกต้นหนึ่งครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น